นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจและมีความมุ่งหมายอันพึงประสงค์ด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุมาตรฐานสากลสูงสุด โดยให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจและผลิตภัณฑ์ สนับสนุนมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงระบบการขนส่งสินค้าเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเลือกใช้เครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าในสายการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการลดโลกร้อน นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการรณรงค์การปลูกต้นไม้ในเขตโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่สังคม โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

การจัดการด้านอนุรักษ์พลังงาน

1

บริษัทฯ มีนโยบายที่จะใช้พลังงานทดแทน หรือการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือระบบโซล่าเซลล์ (Solar Cell) เนื่องจากบริษัทฯ มีอาคารและโรงงานขนาดใหญ่หลายหลัง จึงมีความเหมาะสมที่จะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อลดการใช้พลังงานและลดต้นทุนของบริษัทฯ อีกด้วย

2

การปรับปรุงระบบการขนส่งสินค้า (Logistic) เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทฯ จะดำเนินการจัดเรียงเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการขนส่งโดยตรงจากบริษัทฯ หรือผู้ผลิตสินค้า (Supplier) ไปยังลูกค้า โดยจะจัดเรียงลำดับการขนส่งไปในทางเดียวกัน รวมถึงจะจัดหาเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ เพื่อลดการใช้น้ำมันอีกด้วย

3

บริษัทฯ มีนโยบายในการเลือกใช้เครื่องจักร หรือเครื่องมือที่มีสายการผลิตที่มีคุณภาพสูง ที่จะสามารถช่วยลดพลังงานไฟฟ้าสำหรับการ ผลิตของบริษัทฯ ได้

การบำบัดและควบคุมน้ำเสีย

บริษัทฯ ได้บำบัดน้ำเสียและสารพิษโดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย และมาตรฐานที่เทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ มีการควบคุมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยผลการตรวจสอบตามมาตรฐานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้ง ปี 2565-2566

อันดับ ดัชนีการตรวจวัด หน่วย ผลวิเคราะห์ 2566 ผลวิเคราะห์ 2565 มาตรฐาน เปรียบเทียบเกณฑ์มาตรฐาน
บริเวณ Effluent บริเวณ Effluent
1 pH at 25 oC - 7.7 6.5 ผ่าน 5.5 - 9.0
2 Biochemical Oxygen Demand mg/L 4.42 2.2 ผ่าน <20
3 Chemical Oxygen Demand mg/L <40(17.0) 32 ผ่าน <120
4 Total Suspended Solids mg/L <10 <10 ผ่าน <20
5 Total Dissolved Solids mg/L 212 224 ผ่าน <3,000
6 Oil & Grease mg/L <1.0 <1.0 ผ่าน <5

แนวทางการควบคุมน้ำทิ้ง

บริษัทฯ มีแนวทางการปฏิบัติและควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำภายใน รวมถึงการทิ้งน้ำหลังจากผ่านกระบวนการเพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสีย และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในบริษัทและชุมชนโดยรอบ

น้ำจากกิจกรรมการชำระล้างจากการอุปโภคบริโภค

น้ำที่มาจากแหล่งนี้ ได้แก่ การทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือล้างหน้า การชำระล้างในห้องน้ำ โดยน้ำดังกล่าวจะถูกปล่อยลงท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อบำบัดน้ำเสียด้านหน้าบริษัท เพื่อปรับสภาพน้ำให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก และเพื่อเป็นการรณรงค์และควบคุมการใช้น้ำ รวมถึงควบคุมน้ำทิ้งที่ต้องบำบัดให้มีปริมาณน้อยลง

น้ำจากกิจกรรมการชำระล้างชิ้นงาน

น้ำที่มาจากแหล่งนี้ ได้แก่ น้ำจากการทำความสะอาดชิ้นงานหลังผ่านการยิงด้วยก๊าซไนโตรเจน น้ำจากการล้างชิ้นงานหลังจาการอบชิ้นงาน การใช้น้ำในกระบวนการต้มชิ้นงาน การใช้น้ำในกระบวนการล้างชิ้นงานที่ผ่านการยิงไนโตรเจน น้ำที่มาจากแหล่งดังกล่าวจะถูกปล่อยลงท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อบำบัดน้ำเสียด้านหน้าบริษัท เพื่อปรับสภาพน้ำให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

น้ำจากกิจกรรมทำความสะอาด (พื้นโรงงาน)

น้ำหลังการใช้เช็ดถูทำความสะอาดพื้นโรงงาน น้ำจากการซักผ้าถูพื้น น้ำที่มาจากแหล่งดังกล่าวจะถูกนำไปทิ้งลงในถังทรายที่เตรียมไว้ เพื่อให้ทรายดูดซับน้ำไว้และทิ้งให้น้ำระเหยออกไป หลังจากนั้นให้เปลี่ยนทรายในถังเป็นเมื่อสกปรกมาก โดยการนำทรายที่ปนเปื้อนดังกล่าวส่งออกไปกำจัดโดยบริษัทที่รับบำบัดขยะอันตรายภายนอก

น้ำมันและสีที่เหลือจากกิจกรรมการทาสี ตีเส้นในโรงงาน

สีและน้ำมันที่เหลือหลังจากการใช้งานให้นำไปเทลงในกะบะทรายที่เตรียมไว้ เพื่อให้ทรายดูดซับสีและน้ำมันไว้โดยทิ้งไว้ให้แห้ง หลังจากนั้นให้เปลี่ยนทรายในกะบะเป็นระยะเมื่อสกปรกมาก โดยการนำทรายที่ปนเปื้อนดังกล่าวส่งออกไปกำจัดโดยบริษัทที่รับบำบัดขยะอันตรายภายนอก

น้ำจากกิจกรรมการชำระล้างจากโรงอาหาร

น้ำที่มาจากแหล่งนี้ ได้แก่ การทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร จะถูกผ่านถังดักไขมันก่อนถูกปล่อยลงท่อน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อบำบัดน้ำเสีย ส่วนน้ำล้างผักและเศษอาหาร น้ำล้างมือ น้ำเหล่านี้จะถูกปล่อยลงท่อน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อบำบัดน้ำเสียโดยตรง เพื่อปรับสภาพน้ำให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

น้ำจากกิจกรรมการซ้อมแผนฉุกเฉิน

แผนฉุกเฉินเมื่อสารเคมีหรือน้ำมันหกรั่วไหล แผนดับเพลิง น้ำดังกล่าวเป็นน้ำที่ปนเปื้อน ดังนั้นให้กั้นน้ำดังกล่าวไว้ห้ามปล่อยออกไปสู่ภายนอก และให้สูบน้ำขึ้นมากักเก็บใส่ในถังไว้ เพื่อรอการปรับสภาพน้ำก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อปรับสภาพน้ำอีกครั้งก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

น้ำจาก Cooling Tower

เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ปฎิบัติตามขั้นตอนที่บริษัทกำหนด พร้อมทั้งตรวจเช็คความเป็นกรด ด่าง และหรือค่า Hardness และเมื่อพบว่าน้ำมีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด ต้องทำการปรับสภาพน้ำนั้นก่อนนำน้ำนั้นไปใช้ในกิจกรรมรดน้ำต้นไม้

การจัดการของเสียอุตสาหกรรม

บริษัทฯ จะเลือกเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูงเพื่อช่วยลดการก่อให้เกิดของเสียในปริมาณน้อยที่สุด รวมถึงเลือกใช้ผู้รับจ้างกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

การจัดการของเสีย

มีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการดําเนินงานทั้งในส่วนของการผลิตและกิจกรรมสนับสนุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเกิดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
เมื่อเกิดของเสียขึ้นแล้ว ใช้วิธีจัดการกับของเสียแต่ละประเภทตามศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสียเหล่านั้น เพื่อให้มีของเสียที่ต้องถูกส่งไปกําจัดในปริมาณน้อยที่สุด
มีการจัดการของเสียเป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด ตั้งแต่การจัดเก็บของเสีย การนําไปใช้ประโยชน์ภายในและการนําออกไปกําจัดภายนอก

บริษัทฯ ได้มีการของเสียจากกระบวนการผลิตโดยนำส่งให้กับผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาตกำจัดเป็นผู้ดำเนินการขนส่งและกำจัด โดยระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทมีการดำเนินการสอดคล้องตามข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การกำจัดขยะต่างๆ ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงบริษัทฯ ยังมีการจัดกิจกรรมภายในเพื่อลดปริมาณขยะต่อเนื่องทุกปี

หน่วย 2566 2565 2564
ปริมาณขยะ กิโลกรัม 331,254 346,701 351,100
ขยะทั่วไป ร้อยละ 36 48 52
ขยะอุตสาหกรรม ร้อยละ 34 29 31
ขยะรีไซเคิล ร้อยละ 26 20 15
ขยะอันตราย ร้อยละ 4 4 2

ประเภทของขยะ

ขยะทั่วไป

สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไมใช้แล้ว ที่ไม่เป็นอันตราย

ขยะรีไซเคิล

ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำในบริษัท และรวมถึงการส่งขายให้ผู้รับเหมานำไปเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์

ขยะอันตราย

สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไมใช้แล้วที่เป็นอันตราย

กากอุตสาหกรรม

สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไมใช้แล้ว ซึ่งเกิดจากกระบวบการผลิตจากการประกอบกิจการโรงงานที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งขายได้และขายไม่ได้ โดยการว่าจ้างให้ผู้รับเหมานำไปบำบัดและกำจัด

การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

โพลีเน็ตตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) ในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อุณหภูมิของพื้นผิวโลก รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่อาจตามมาในอนาคต จึงได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ขึ้น และได้กำหนดมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน ISO14064-1:2018 และยังได้กำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงวิธีการอื่นๆ ที่สำคัญ

1

การใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้าของบริษัทฯ นั้น จะต้องอาศัยเครื่องจักรที่ใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้าค่อนข้างสูง บริษัทฯ จึงมีนโยบายที่จะใช้พลังงานทดแทน หรือการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือระบบโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีอาคารและโรงงานขนาดใหญ่หลายหลัง จึงมีความเหมาะสมที่จะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อลดการใช้พลังงานและลดต้นทุนของบริษัท

2

การปรับปรุงระบบการขนส่งสินค้า (Logistic) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของบริษัทฯ ที่มีสัดส่วนต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทฯ ต้องใช้รถบรรทุกเป็นจำนวนมากสำหรับการกระจายสินค้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งโดยรถบรรทุกของบริษัทฯ เอง หรือการว่าจ้างผู้รับขนส่ง ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทฯ จะดำเนินการจัดเรียงเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการขนส่งโดยตรงจากบริษัทฯ หรือผู้ผลิตสินค้า (Supplier) ไปยังลูกค้า โดยจะจัดเรียงลำดับการขนส่งไปในทางเดียวกัน รวมถึงจะจัดหาเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ เพื่อลดการใช้น้ำมัน

3

บริษัทฯ มีนโยบายในการเลือกใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือที่มีสายการผลิตที่มีคุณภาพสูง ที่จะสามารถช่วยลดพลังงานไฟฟ้าสำหรับการผลิตของบริษัทฯ ได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทฯ นั้นสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะสามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทฯ ที่มีเป้าหมายที่จะเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงให้แก่ลูกค้า

4

การบำบัดน้ำเสียและสารพิษ รวมถึงกระบวนการผลิตสินค้าในส่วนอื่นๆ ของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ได้บำบัดน้ำเสียและสารพิษโดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย และมาตรฐานที่เทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ ในการนี้ บริษัทฯ จะเลือกเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูงเพื่อช่วยลดการก่อให้เกิดของเสียในปริมาณน้อยที่สุด รวมถึงเลือกใช้ผู้รับจ้างกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

5

มีนโยบายในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการลดโลกร้อน ซึ่งถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงานอีกวิธีหนึ่งด้วย

6

มีนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการรณรงค์การปลูกต้นไม้ในเขตโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่สังคม โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

7

จัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อติดตามพัฒนาการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมาย

ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของบริษัท ( ขอบเขต 1 และขอบเขต 2) 10% จากปีฐาน 2564 ภายใน 5 ปี

โปรแกรมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยทำการปรับปรุงโปรแกรมการใช้พลังงานของเครื่องจักรฉีดขึ้นรูป ประเภทยาง ด้วยการเขียนโปรแกรม เพื่อสั่งให้มอเตอร์หยุดทำงานในช่วงการรอขึ้นรูป และจากการดำเนินงานผ่านกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลากหลายส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงานเป็นจำนวน 249,816.6 kWh และคิดเป็นปริมาณ GHG ที่ลดได้ 124,883.32 KgCO2e

ในปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) และบริษัทฯ จะจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อติดตามพัฒนาการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2566 ของบริษัทฯ

1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2564 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2565 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2566
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขต 1 (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) 268 441 321
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขต 2 (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) 4,742 5,723 4,935
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขต 3 (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) 2,906 4,445 3,031

หมายเหตุ: ตามมาตรฐานการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG Protocol) สําหรับภาครัฐและเอกชน ซึ่งพัฒนาโดย World Resource Institute (WRI) ร่วมกับ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) แบ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงและทางอ้อมเป็น 3 scope ได้แก่ ขอบเขต (Scope) 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงทั้งหมด ขอบเขต 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้หรือการซื้อไฟฟ้า ความร้อนหรือไอน้ำ และขอบเขต 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมแบบอื่นนอกขอบเขตที่กำหด เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งโดยใช้ยานพาหนะที่ไม่ได้ควบคุมโดยหรือเป็นของผู้รายงาน ฯลฯ

โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัท แอลอาร์คิวเอ (ประเทศไทย) จำกัด (“LRQA”) ซึ่งเป็นผู้ทวนสอบการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นผู้ทวนสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2564 ของบริษัทฯ โดย LRQA ได้ให้ความเห็นว่าจากการทวนสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่พบเหตุที่อาจสงสัยได้ว่ารายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ แสดงข้อมูลไม่ถูกต้องอย่างเป็นสาระสำคัญ โดยรายงานดังกล่าวลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565

โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักรโดยใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ทำให้ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์